ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับการเตรียมตัวสอบเข้าดนตรีสากล บ้านสมเด็จฯ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่สนใจศึกษาต่อด้านดนตรี โดยเฉพาะดนตรีสากล ซึ่งจะต้องมีการเตรียมตัวก่อนรับการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ โดยมีคำแนะนำดังนี้
1. ศึกษาหลักสูตรที่ต้องการเข้าศึกษาต่อ เพื่อให้แน่ใจว่าเป้าหมายของเราต้องการทำอาชีพอะไรที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ของดนตรี โดยสามารถเข้าไปศึกษาประเภทของหลักสูตร วุฒิปริญญา ระยะเวลาตลอดการศึกษา ซึ่งวุฒิของแต่ละหลักสูตร มีผลต่อการประกอบอาชีพทางดนตรีเพื่อให้ตรงกับเป้าหมายของเรา รายวิชา และกลุ่มวิชาเอกที่จะต้องเรียนตามหลักสูตรนั้นๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในแต่ละภาคการศึกษา วัน-เวลา เปิดรับสมัคร ซึ่งมีรายละเอียดในเว็บไซต์
เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา Link : www.bsru.ac.th
เว็บไซต์ ภาควิชาดนตรีตะวันตก วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
Link : www.westernmusicbsru.com
Facebook Fan page : รับสมัครเข้าศึกษาต่อ Link : https://www.facebook.com/bsrumusic2558/
2. ศึกษาเครื่องดนตรีเอกที่จะใช้ในการสอบและศึกษาต่อตามความถนัดของตนเอง ซึ่งนักเรียนจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติการบรรเลงเครื่องดนตรีเอกตามความถนัดของตน และทำการสอบปฏิบัติในวันทดสอบ แบ่งเป็น
- กลุ่มเครื่องสายสากล ได้แก่ ไวโอลีน วิโอล่า เชลโล่ ดับเบิ้ลเบส กีตาร์คลาสสิก อิเล็คทริคกีตาร์ อิเล็คทริคเบส
- กลุ่มเครื่องลมไม้ ได้แก่ ฟลู้ท คลาริเน็ต แซกโซโฟน บาสซูน โอโบ
- กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง ได้แก่ ทรัมเป็ต เฟร้นฮอร์น ทรอมโบน ยูโฟเนียม ทูบา
- กลุ่มเครื่องกระทบ ได้แก่ กลองชุด เครื่องเปอร์คัชชั่นแบบคอนเสิร์ต (ซึ่งจะต้องบรรเลงประเภท ทิมปานี มาริมบ้า ไวบราโฟน ไซโลโฟน และสแนร์ดรัมแบบคอนเสิร์ต)
** กรณีผู้สอบกลองชุด จะต้องบรรเลง 1-2 บทเพลง โดยมีสไตล์และเทคนิคที่แตกต่างกัน บทเพลงที่แสดงถึงความสามารถของผู้บรรเลง และทดสอบ Rudiment และรูปแบบจังหวะต่างๆที่หลากหลายได้ - มีการทดสอบโสตประสาท และการอ่านโน้ตฉับพลัน
** กลุ่มเครื่องสาย เครื่องลม และเครื่องกระทบคอนเสิร์ต จะต้องบรรเลงบทเพลง 1-2 เพลงต่างยุคสมัยกัน และบทเพลงต้องเป็นระดับเทียบเท่าที่เป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากลระดับเกรด 4 ขึ้นไป
* รวมถึงทดสอบโสตประสาท และการอ่านโน้ตฉับพลัน
- กลุ่มเครื่องดนตรีเปียโน
1. เปียโนคลาสสิก จะต้องเลือกบทเพลงที่นำมาบรรเลงจำนวน 1-2 เพลงต่างยุคสมัยกัน และระดับความสามารถของบทเพลงที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลเกรด 4 ขึ้นไป
2. เปียโนสมัยนิยม จะต้องเลือกบทเพลงที่แสดงถึงความสามารถของผู้บรรเลง และมีเทคนิคในขั้นสูง จำนวน 1-2 บทเพลงที่มีสไตล์และเทคนิคที่แตกต่างกัน
3. ทั้งเปียโนคลาสสิก และสมัยนิยม จะต้องบรรเลงบันไดเสียงเมเจอร์ และไมเนอร์ (Major and Minor scales) 7# 7b
*** กรณีมีผลสอบวัดระดับที่เป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากลเกรด 4 ขึ้นไป สามารถนำมายื่นประกอบการพิจารณาได้
- ทดสอบโสตประสาท และการอ่านโน้ตฉับพลัน
- กลุ่มขับร้อง โดยจะต้องมีความสามารถในการขับร้องเพลง และการฟังเสียงที่ดี (Ear training)
ขับร้องคลาสสิก
1. บทเพลงที่ใช้สอบจำนวน 1-2 บทเพลงที่ต่างยุคต่างสมัยกัน เป็นบทเพลงที่แสดงถึงความสามารถของผู้ร้อง และเทคนิคที่แตกต่างกัน และบทเพลงจะต้องมีมาตรฐานระดับสากลเทียบเท่าเกรด 4 ขึ้นไป
ขับร้องสมัยนิยม
1. บทเพลงที่ใช้สอบจะต้องมีเทคนิคที่แสดงถึงความสามารถของผู้ร้อง จำนวน 1-2 เพลง ที่มีสไตล์และเทคนิคที่แตกต่างกัน
2. การทดสอบโสตประสาทที่แสดงถึงความสามารถในการร้องแบบย้ายคีย์ในบทเพลงที่ร้องได้หลากหลาย
**** ทั้งนี้ เครื่องดนตรีสากลประเภทอื่นๆ สามารถสอบถามไปยังภาควิชาดนตรีตะวันตก เพื่อรับการแนะนำในการเตรียมความพร้อมในการสอบเข้าศึกษาต่ออีกครั้ง
- กลุ่มกีตาร์คลาสสิก บรรเลงบทเพลง 1-2 บทเพลงต่างยุคต่างสมัยกัน ซึ่งบทเพลงจะต้องมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลในระดับเกรด 4 ขึ้นไป - การทดสอบบรรเลงบันไดเสียงเมเจอร์ ไมเนอร์ (Major and Minor scales) 7#7b - ทดสอบโสตประสาท และอ่านโน้ตฉับพลัน
- กีตาร์สมัยนิยม เบสสมัยนิยม (ไฟฟ้า) เลือกบทเพลงจำนวน 1-2 บทเพลง ที่แสดงถึงความสามารถของผู้บรรเลง ทั้ง 2 เพลงมีเทคนิคและสไตล์ที่แตกต่างกัน - บรรเลงบันไดเสียงเมเจอร์ ไมเนอร์ (Major and minor scales) 7# 7b - ทดสอบโสตประสาท และอ่านโน้ตฉับพลัน
3. แนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบปฏิบัติการบรรเลงเครื่องดนตรีเอกในการสอบเข้าศึกษาต่อ มีดังนี้
กลุ่มดนตรีปฏิบัติคลาสสิก และกลุ่มขับร้องคลาสสิก
- สามารถปฏิบัติการบรรเลงบันไดเสียงเมเจอร์และไมเนอร์ (Major and Minor scales) 7# 7b
ลักษณะการบรรเลงบันไดเสียง 1-2 ช่วงเสียง (1-2 Octaves)
- บทเพลงที่ใช้สอบ จะต้องเป็นบทเพลงที่ใช้บรรเลงแบบเดี่ยวของเครื่องดนตรี การโซโล่ และบทเพลงจะต้องอยู่ในมาตรฐานของเพลงบรรเลงเดี่ยวของเครื่องดนตรีประเภทนั้นๆอย่างน้อยเกรด 4 ขึ้นไป เช่น บทเพลงของผู้ประพันธ์เพลงในยุคทางดนตรีต่างๆจำนวน 1-2 บทเพลง ซึ่งทั้ง 2 บทเพลง จะต้องมาจากบทเพลงที่ต่างยุคและต่างสมัยกัน รวมถึงบทเพลงนั้นๆ จะต้องแสดงถึงเทคนิคและทักษะของการบรรเลงเครื่องดนตรีประเภทนั้นๆอย่างชัดเจน
- ทักษะการอ่านโน้ตแบบฉับพลัน (Sigh reading)
- ทักษะโสตประสาทการฟัง (Ear training)
กลุ่มดนตรีปฏิบัติแจ๊ส และกลุ่มขับร้องแจ๊ส
1. scale & appeggios (major, dominant, minor & blues อย่างน้อย 4 # 4 b)
2. เพลงแจ๊สพื้นฐาน(C Jam Blues-Duke Ellingto, Freedie Freeloader-Miles Davis, Now's The Time-Charlie Parker & Blue Monk-Thelonious Monk) เล่นทำนองหลักและโซโล่(Improvisation)
3.Sight Reading(อ่านโน้ตเขบ็ตหนึ่งชั้นที่เขียนแบบปกติ แต่เล่นเป็น Swing Feel)
- ทักษะการอ่านโน้ตแบบฉับพลัน (Sigh reading)
- ทักษะโสตประสาทการฟัง (Ear training)
กลุ่มดนตรีปฏิบัติสมัยนิยม และกลุ่มขับร้องสมัยนิยม
- สำหรับกลองชุด อิเล็คทริคกีตาร์ อิเล็คทริคเบส จะต้องบรรเลงบทเพลงที่แสดงถึงเทคนิคของเครื่องดนตรีประเภทนั้นๆ และกลองชุด จะต้องทำการบรรเลงในจังหวะหลากหลายรูปแบบ
3. พื้นฐานทฤษฎีดนตรีสากล
นักเรียนจะต้องมีพื้นฐานทางทฤษฎีดนตรีสากล ในระดับต่อไปนี้
- ค่าโน้ต ระดับเสียง กุญแจเสียง
- การ Transpose notes บนกุญแจเสียงต่างๆ และคีย์ (Keys) ต่างๆ จากโน้ตทำนองแบบแนวเดียว
- วิเคราะห์บันไดเสียงจากทำนองแนวเดียว และสามารถระบุคีย์ของบทเพลงได้
- บันไดเสียงเมเจอร์และไมเนอร์ (Major and Minor scales) 7# 7b
- วิเคราะห์โน้ตขั้นคู่ (Interval)
- สัญลักษณ์ทางดนตรี เช่น ความช้า-เร็วของจังหวะ ระดับเสียงดัง-เบา และสัญลักษณ์ต่างๆที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการบรรเลงดนตรี
*** หมายเหตุ เนื้อหาพื้นฐานทฤษฎีดนตรีสากลดังกล่าวมานี้ เป็นเพียงพื้นฐานแรกเริ่มและไม่ได้อยู่ในเนื้อหาการเรียนดนตรีในระดับอุดมศึกษา ซึ่งนักเรียนควรที่จะต้องมีพื้นฐานดังกล่าวนี้ เพื่อที่จะสามารถเข้าสู่เนื้อหาของรายวิชาตามหลักสูตรระดับอุดมศึกษาได้
จากข้อมูลดังกล่าวนี้ เป็นเพียงแนวทางส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมสำหรับนักเรียนที่สนใจศึกษาต่อทางด้านดนตรีสากลในระดับอุดมศึกษา และกรณีต้องการศึกษาระเบียบการรับเข้าสมัครและคุณสมบัติ สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ระเบียบการรับสมัครสอบตาม Link ในหัวข้อด้านบนนี้
ผู้เขียน : ณัฐศรัณย์ ทฤษฎิคุณ
12 กุมภาพันธ์ 2561